ฟังให้รอบด้าน เสี่ยงจริงไหม? นมจากอกให้ลูกคนอื่น

  • 11 พ.ค. 2563
  • 1056
หางาน,สมัครงาน,งาน,ฟังให้รอบด้าน เสี่ยงจริงไหม? นมจากอกให้ลูกคนอื่น

หลังจากอาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งออกมาให้คำแนะนำถึงกรณีที่พยาบาลสาวให้น้ำนมจากอกของเธอกับทารกวัย 4 เดือน ที่แม่บังเอิญประสบอุบัติเหตุ ทำให้ไม่สามารถให้น้ำนมกับลูกของตัวเองได้ในขณะนั้น จนทำให้เกิดดราม่าไปทั่วโลกออนไลน์ วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะมาไขข้อข้องใจว่า แท้จริงแล้วการให้นมแม่ทั้งแม่ของเด็กและแม่คนอื่นสุ่มเสี่ยงต่อการติดโรคผ่านทางน้ำนมหรือไม่?

ฟังชัดๆ โอกาสมีติดเชื้อจากนมแม่ แต่...ความเสี่ยงต่ำ! เว้น เชื้อ HIV 

นพ.ประชา นันท์นฤมิต หัวหน้าหน่วยทารกแรกเกิด ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ความรู้ในเรื่องนี้ว่า โดยทั่วไปเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย มีโอกาสที่จะติดต่อผ่านทางน้ำนมแม่ได้ ในกรณีที่แม่ติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย ไม่ได้หมายความว่าลูกจะกินนมแม่ไม่ได้!!

ในกรณีทารกปกติทั่วไปที่ร่างกายแข็งแรง เช่น ถ้าแม่กำลังเป็นหวัด เป็นไปได้ว่าอาจมีเชื้อหวัดจำนวนเล็กน้อยออกทางน้ำนมได้ แต่ทารกก็จะไม่มีอาการและเป็นปกติ เพราะการติดเชื้อหวัดส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับเสมหะ การไอจาม แต่ถ้าเป็นทารกที่มีความเสี่ยง เช่น เป็นทารกที่เกิดก่อนกำหนด ก็อาจจะทำให้เด็กมีปัญหาได้ 

ปั๊มนมเก็บไว้

“ที่น่ากลัวมากๆ คือ เอดส์ หรือ HIV เพราะมีข้อมูลชัดเจนว่า ถ้าแม่ติดเชื้อ HIV เราจะไม่ให้กินนมแม่ เพราะถ้ากินนมแม่มีโอกาสที่ลูกจะติดเชื้อ HIV และกลายเป็นเอดส์ได้ ส่วนอื่นๆ ไม่ค่อยเป็นประเด็นมากนัก” นพ.ประชากล่าว

นอกจากนี้ กุมารแพทย์ ยังยกตัวอย่างไวรัสและโรคอื่นๆ นอกเหนือจากไวรัส HIV ที่สามารถติดต่อผ่านทางน้ำนมแม่ได้ ดังนี้

เชื้อไซโตเมกะโลไวรัส หรือ CMV  ส่วนใหญ่แม่มีการติดเชื้อได้ตั้งแต่เด็กหรือตั้งแต่ยังไม่ได้ตั้งครรภ์ เพราะฉะนั้นแม่จะมีภูมิต้านทานในตัวแล้วส่วนหนึ่ง แม้ทารกได้รับเชื้อนี้จากนมแม่ หากเป็นทารกปกติที่ร่างกายแข็งแรงมักไม่แสดงอาการ และเป็นปกติดี ยกเว้น ทารกกลุ่มเสี่ยงที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ทากรกที่คลอดก่อนกำหนดมาก อาจติดเชื้อและแสดงอาการได้

ไวรัสตับอักเสบบี การติดต่อไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูกจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างการคลอดในกรณีที่ทารกมีการสัมผัสเลือดของแม่ หรือถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็จะเป็นการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และในปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนป้องกันตับอักเสบบีตั้งแต่แรกเกิดในทารกทุกคนอยู่แล้ว ฉะนั้นประเด็นเรื่องไวรัสตับอักเสบบีโอกาสจะติดไปถึงลูกผ่านทางน้ำนมมีน้อยมาก
 
ขณะที่ โรคซิฟิลิส ทารกจะติดโรคจากแม่ผ่านทางเลือดในขณะการตั้งครรภ์มากกว่าที่จะติดโรคผ่านทางน้ำนม ส่วนโรคเริม ถ้าหากแม่มีตุ่มใสของเริมอยู่ในบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ อย่างเช่น ช่องคลอด ในช่วงระหว่างคลอด ก็อาจจะทำให้ลูกติดโรคเริมด้วย กระนั้นแม่ที่เป็นเริมก็ยังสามารถให้นมลูกได้ตามปกติ

นพ.ประชา นันท์นฤมิต

แม้...แม่เป็นซิฟิลิส หรือไวรัสตับอักเสบบี แต่ลูกก็แข็งแรงได้

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถามถึงเรื่องการคัดกรองความเสี่ยงในการติดโรคผ่านทางน้ำนมแม่ไปยัง นพ.ประชา และได้รับคำตอบว่า ไม่ใช่ประเด็นที่แม่จะต้องกลัวว่าถ้าให้ลูกกินนมแล้วต้องตรวจเช็กโรคอะไรหรือเปล่า โดยทั่วไปเวลาฝากครรภ์จะมีการตรวจคัดกรอง เชื้อ HIV ซิฟิลิส และไวรัสตับอักเสบบี ทำให้รู้ตั้งแต่แรกว่าแม่จะมีข้อห้ามในการให้นมลูกหรือไม่ ซึ่งข้อห้ามเดียวคือ แม่ติดเชื้อ HIV เท่านั้น แต่อย่างอื่นไม่เป็นปัญหา 

“โรคซิฟิลิส ถ้าตรวจเจอตั้งแต่ตอนฝากครรภ์ ก็สามารถรักษาได้ตั้งแต่ตอนนั้น ทำให้ไม่มีปัญหาในแง่ของการให้นมลูกตอนที่เกิด ถ้าเป็นไวรัสตับอักเสบบี ก็จะตรวจคัดกรองว่าแม่มีภูมิต้านทานหรือแม่เป็นพาหะหรือไม่ ถ้าแม่เป็นพาหะ ทารกก็รีบฉีดวัคซีนหรือให้อิมมูโนโกลบูลินสำหรับไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่แรกเกิดอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยลดการติดเชื้อ และแม่ที่เป็นพาหะก็ให้นมลูกได้” หัวหน้าหน่วยทารกแรกเกิดกล่าวเสริม

ในกรณีของไวรัสตับอักเสบซี ที่ไม่ได้ตรวจคัดกรองตอนที่ฝากครรภ์ จะตรวจก็ต่อเมื่อแม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี เช่น มีประวัติการใช้สารเสพติดแบบฉีดเข้าเส้นเลือด หรืออาจเคยได้รับเลือดมาก่อน และหากแม่ติดเชื้อหรือเป็นพาหะ ก็ยังสามารถให้นมลูกได้ เพราะโอกาสที่จะติดโดยผ่านทางน้ำนมไม่ใช่สาเหตุหลัก ส่วนใหญ่จะติดต่อจากแม่สู่ลูกเหมือนกับไวรัสตับอักเสบบี ดังที่กล่าวในตอนต้นมากกว่าที่จะติดต่อผ่านทางน้ำนม

เก็บรักษานมแม่

ทั้งนี้ นพ.ประชา ยังแสดงความคิดเห็นว่า “ถ้าลูกของใครก็ควรจะให้นมลูกตัวเอง ถ้าเราเอานมของแม่คนอื่นมาให้ลูก เราก็ไม่รู้ว่าแม่คนนั้นเขาเป็นยังไง เขาอาจจะติดเชื้อ HIV หรือเขาอาจจะติดเชื้อ CMV ในช่วงนั้นแล้วออกมาทางน้ำนมหรือไม่ ในทางการแพทย์โดยทั่วไปไม่ได้แนะนำให้เอานมของคนอื่นมาให้ลูก แบบนั้นคุณต้องยอมรับความเสี่ยง แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องการใช้นมจากแม่คนอื่นมาให้ลูกของตน วิธีที่ดีที่สุด คือ คนๆ นั้น ต้องไม่มีประวัติ พฤติกรรมเสี่ยง เช่น ใช้สารเสพติด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือใช้ยาที่เป็นข้อห้ามของการให้นมแม่ รวมทั้งต้องมีผลการตรวจเลือดว่าไม่มี HIV, ไวรัสตับอักเสบบี, ซี, ซิฟิลิส และดีที่สุด ควรผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ เช่น พลาสเจอไรเซชั่นแล้ว” 

นมจากเต้าแบบปลอดภัยมี แต่ไว้ใช้กับทารกป่วยหนัก-คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย

เพื่อให้เกิดความกระจ่างในเรื่องของความเสี่ยงของการให้นมลูกจากแม่คนอื่น ทีมข่าวเฉพาะกิจจึงต่อสายตรงไปยัง พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิดโรงพยาบาลบีเอ็นเอช และอนุกรรมการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เพื่อหาคำตอบดังกล่าว

พญ.สุธีรา เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจว่า ในต่างประเทศก็มีการแชร์น้ำนมระหว่างแม่เช่นกัน แต่จะมีหน่วยงานที่คอยสุ่มตรวจ เพราะมีการขายน้ำนมแม่เกิดขึ้น ซึ่งพบว่าผู้ขายน้ำนมแม่บางคนมีการใช้นมวัวหรือใช้น้ำเปล่าเจือจางนมแม่ ไปจนถึงการตรวจเจอเชื้อโรคต่างๆ เนื่องจากบางคนคิดว่าตัวเองปลอดภัย ทั้งที่อยู่ในระยะแฝง เช่น เชื้อ HIV เชื้อไวรัสตับอักเสบบี เชื้อไวรัสตับอักเสบซี เป็นต้น ซึ่งการแบ่งปันน้ำนมโดยไม่ได้ทำตามขั้นตอนของการตรวจจะเรียกว่า Informal Milk Sharing

แต่ถ้าให้ปลอดภัยคือต้องซื้อน้ำนมจากธนาคารนมที่มีการจัดการดูแลคล้ายธนาคารเลือด คือมีการคัดกรองเหมือนกับการบริจาคเลือด มีการซักประวัติถึงความเสี่ยงต่างๆ เช่น ใช้สารเสพติด ใช้บริการโสเภณี หรือมีประวัติในการรับเลือดก่อนหน้านี้หรือไม่ ถ้าเกิดมีประวัติพวกนี้ก็จะคัดออกไปตั้งแต่ต้น และถึงจะไม่มีประวัติก็ต้องมีการเอาไปตรวจเชื้อ HIV เชื้อ CMV ไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสตับอักเสบซี ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าแม้จะรับบริจาคมาฟรี แต่ว่าเวลาจะใช้ก็ต้องคิดเงิน เพราะยังมีค่าใช้จ่ายในการตรวจเชื้อต่างๆ

พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ

ในต่างประเทศมีธนาคารน้ำนมหลายแห่ง แต่ ประเทศไทยตอนนี้มีธนาคารน้ำนมที่โรงพยาบาลรามาธิบดีแค่แห่งเดียว และมีราคาแพงมาก คือนมแม่ 1 oz. หรือ 30 cc. มีราคาราวๆ 200 บาท แต่นมเหล่านี้มีความจำเป็นสำหรับกลุ่มทารกที่ป่วยหนักและทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักแค่ 500 กรัมถึง 1 กิโลกรัม ลำไส้ของเด็กเหล่านี้ไม่สามารถย่อยนมที่ข้ามสายพันธุ์ได้ ถ้ากินนมผงจากนมวัวก็จะทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคลำไส้เน่า หรือการติดเชื้อในกระแสเลือด ไปจนถึงการติดเชื้อที่สมอง

ขณะที่เด็กปกติกินนมวัวอย่างมากก็คือแพ้ มีอาการป่วยบ่อย มีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน เป็นโรคอ้วน แต่ก็ไม่ได้แสดงออกโดยทันทีและยังไม่ถึงขั้นเสียชีวิต จึงไม่ต้องไปซื้อนมจากธนาคารนมมาใช้กับทารกปกติ ยกเว้นนานๆ จะเกิดแจ็กพอตอย่างในประเทศจีนที่พบว่าในนมผงมีเมลามีนผสมอยู่ หรือเจอเชื้อโรคอย่างแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินัม ซึ่งกินแล้วก็อาจจะทำให้เสียชีวิตได้

“ถ้านมแม่มีการคัดกรองแล้วว่าปกติดีผ่านธนาคารนมก็ต้องดีกว่านมผงแน่นอน เพราะนมผงไม่มีการคัดกรองขนาดนี้ ต้องไปเสี่ยงกันเอาเอง แต่เหมือนกับว่าไม่มีตัวเลือก เนื่องจากแม่ไม่มีนมแม่ อีกทั้งนมผ่านธนาคารนมก็มีราคาแพงมาก ถ้าไม่ให้นมผงกับลูก ลูกก็จะอดตาย เพราะฉะนั้นก็จำเป็นต้องใช้ แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือต้องให้ความรู้กับประชาชนเยอะๆ เพื่อให้รู้ว่าจะทำอย่างไรถึงจะมีนมให้ลูกกินได้เยอะๆ เหมือนกับคนที่มีนมเยอะถึงขั้นไปบริจาคที่ธนาคารนม” กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แสดงความคิดเห็น

เตรียมตัวให้พร้อมก่อนตั้งครรภ์

ในประเทศไทยแม้จะไม่มีการขายนมแม่ แต่ก็ยังมีคนใช้ประโยชน์จากการรวบรวมนมแม่ที่มีคนบริจาคเข้ามาแล้วนำไปแลกเป็นของเล่น หรือของใช้อื่นๆ กับแม่ต้องการนมแม่ อีกทั้งยังมีกรณีของเนิร์สเซอรี่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ซึ่งมีเกณฑ์ในการรับเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่เท่านั้น ก็มีคนไปหานมแม่ของคนอื่นมาเพื่อให้ลูกของตนเองได้อยู่ในเนิร์สเซอรี่ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ควร-ไม่ควรบริจาคน้ำนมให้กับลูกคนอื่น ความหวังดีอาจถูกย้อนมาทำร้าย!

พญ.สุธีรา ให้คำแนะนำถึงกรณีที่พยาบาลสาวให้นมกับเด็กแทนแม่ที่ได้รับบาดเจ็บว่า ตอนนี้ก็ควรมีตรวจเลือดทั้งแม่ เด็ก และพยาบาลคนนี้ หากวันข้างหน้า เด็กคนนี้ไม่สบายขึ้นมา พยาบาลจะกลายเป็นจำเลยของสังคมได้ เพราะอาจเกิดคำถามขึ้นได้ว่าเป็นเพราะกินนมในวันนี้หรือเปล่า ซึ่งความจริงอาจจะไม่ใช่ก็ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าพ่อแม่ของเด็ก ประวัติการมีเพศสัมพันธ์เป็นอย่างไร เขาจะมีเชื้อของตัวเองอยู่หรือเปล่า

แม้ว่าวันนี้แม่ของเด็กจะบอกว่าอนุญาตให้เด็กกินนมของพยาบาลได้ แต่ในอนาคตหากเขามีปัญหาอะไรบางอย่างหรือมีคนมายุเขาว่าแบบนี้สามารถฟ้องร้องได้ เพราะลูกเขาอาจจะมีปัญหาจากการกินนมของพยาบาลคนนี้ ก็จะกลายเป็นว่าความหวังดีของเขาก็อาจจะย้อนมาทำร้ายเขาทีหลังก็ได้

“เราควรจะให้สังคมรู้ว่าไม่ควรรับน้ำนมบริจาคและไม่ควรบริจาคน้ำนมให้กับลูกของคนอื่น มีคนไข้ถามหมอมาตลอดเหมือนกัน ว่าเขามีน้ำนมเยอะจะสามารถเอาไปบริจาคได้หรือไม่ หมอก็บอกว่า อย่าเลย เก็บไว้ให้ลูกกินเถอะ เพราะว่าคุณบริจาคไปแล้วถ้าลูกเขามีปัญหา คุณจะรับผิดชอบไม่ไหว ไม่แนะนำให้ทำ” กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กล่าวทิ้งท้าย

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top